ใครที่มีอาการปวดท้องอยู่บ่อยๆ หรือบางครั้งมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย ซึ่งอาการปวดมักจะรุนแรงมากกว่าปกติ แต่เมื่อตรวจร่างกายแล้วกลับไม่พบความผิดปกติใดๆที่ลำไส้
นี่อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่า คุณอาจจะเป็นโรคลำไส้แปรปรวน หรือที่ทางการแพทย์มักจะเรียกว่าโรค IBS ย่อมาจาก Irritable Bowel Syndrome
แล้วอะไรเป็นสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคที่ว่านี้ได้มากยิ่งขึ้น
- อาหารกลุ่ม FODMAPs (Fermentable Oligo-, Di- and. Monosaccharides and Polyols) เป็นอาหารที่มีองค์ประกอบของคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว และโมเลกุลคู่หลากหลายชนิด ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ร่างกายดูดซึมได้ไม่ดี จึงเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ จนเกิดกระบวนการหมัก แล้วได้เป็นกรดไขมันสายสั้น และแก๊สต่างๆในปริมาณมาก ทำให้ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น FODMAPs แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ตามลักษณะโครงสร้างของน้ำตาล ได้แก่
- น้ำตาลฟรุกแตน (Fructans) กาแลกแตน (Galactans) พบได้ใน ข้าวสาลี หัวหอม กระเทียม ถั่วชนิดต่างๆ
- น้ำตาลแลกโตส (Lactose) พบได้ใน นม และผลิตภัณฑ์จากนม
- น้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) พบได้ใน น้ำผึ้ง และผลไม้ต่างๆ
- น้ำตาลแอลกอฮอล์ (Sugar alcohol) เช่น ซอร์บิทอล (Sorbitol) ไซลิทอล (Xylitol)
- อาหารประเภทไขมันสูง การรับประทานอาหารจำพวกที่มีไขมันสูง และเนื้อสัตว์ติดมัน จะใช้เวลาในการย่อยนาน เกิดแก๊สได้มาก รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่มากเกินไป และผิดเวลาก็ทำให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวนได้เช่นเดียวกัน
- อาหารที่แพ้ได้ง่าย อย่างเช่น นม ไข่ ถั่วเหลือง และอาหารทะเล ไม่ว่าจะเป็นคนที่แพ้หรือไม่แพ้อาหารเหล่านี้ ในบางครั้งลำไส้อาจมีการทำงานที่ผิดปกติไป จนทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาไวต่ออาหารจำพวกนี้ได้
- ความเครียด เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวนเลยก็ว่าได้ เนื่องจากในขณะที่เราเครียด โกรธ หรืออยู่ในสภาวะกดดันต่างๆ ระบบการย่อยอาหารจะทำงานผิดปกติ การสร้างสารเยื่อเมือกที่เยื่อบุผิวในลำไส้ลดลง รวมถึงปริมาณเลือดที่มาเลี้ยงลำไส้ก็ลดน้อยลงด้วย เมื่อปริมาณเลือดที่มาเลี้ยงลำไส้ลดน้อยลงเรื่อยๆ ก็จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่อยู่บริเวณลำไส้ และการทำงานของลำไส้เกิดความผิดปกติ อาจมีอาการท้องอืดจากอาหารไม่ย่อยหรือท้องผูกได้ในบางครั้ง ถ้าเครียดมากจนเกินไปก็อาจทำให้มีอาการท้องเสียตามมาได้
- การใช้ยาปฎิชีวนะ การใช้ยาปฎิชีวนะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียในลำไส้ ซึ่งจะทำลายแบคทีเรียโดยไม่เลือกว่าเป็นชนิดดี หรือไม่ดี ถ้าร่างกายเรามีแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ไม่เพียงพอ หรือสูญเสียความสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ไป การทำงานของลำไส้ก็จะผิดปกติตามไปด้วย
สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคลำไส้แปรปรวน และมีอาการที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันที่ผนังลำไส้และการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในลำไส้ได้อีกด้วย
ซึ่งภายในลำไส้ของเรา จะมีทั้งจุลินทรีย์ตัวดีและจุลินทรีย์ตัวที่ไม่ดี ถ้าร่างกายเรามีจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ดีมากพอ ก็จะทำให้การทำงานของลำไส้เป็นไปอย่างปกติ และช่วยลดอาการลำไส้แปรปรวนลงได้
พวกเราสามารถเพิ่มจุลินทรีย์ตัวดีได้ด้วยการกิน ไม่ว่าจะเป็น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต อาหารหมักดอง หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร